วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แบบทดสอบ

http://jakkrit-economics1.blogspot.com/คำสั่ง จงเลือกคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคำตอบเดียว กา x ลงในกระดาษคำตอบ
1. ข้อใดคือความหมายของเศรษฐศาสตร์

    ก. ศึกษาว่ามนุษย์จะจัดการเกี่ยวกับครอบครัวอย่างไร
    ข. ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ในการดำรงชีวิต
    ค. ศึกษาการเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด
    ง. ศึกษาถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อบำบัดความต้องการที่มีไม่จำกัด
2. ข้อใดไม่เป็นปัญหาทางด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค
    ก. จำนวนคนว่างงานในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
    ข. ราคายางพาราในประเทศปีนี้ตกต่ำกว่าปีที่แล้ว
    ค. ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดปริมาณเงินในมือประชาชน
    ง. เกษตรกรมีราคาต่ำกว่าผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม
3. การศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจใดเป็นการศึกษาตามแนวเศรษฐศาสตร์จุลภาค
    ก. การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อการบริโภคมวลรวม
    ข. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและรายได้ประชาชาติ
    ค. การเพิ่มขึ้นของระดับราคาและการจ้างงาน
    ง. ชาวนาผลิตข้าวเกินความต้องการของผู้บริโภคทำให้ราคาข้าวลดลง
4. ข้อใดเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์จุลภาค
    ก. การมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดจำนวนมากทำให้ราคาทุเรียนตกต่ำ
    ข. วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ส่งผลกระทบทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมาก
    ค. รัฐบาลเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
    ง. รัฐบาลใช้นโยบายงบประมาณการเงินและนโยบายการคลังเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
5. ข้อใดเป็นปัญหาพื้นฐานของทุกสังคม

    ก. ปัญหาความขาดแคลนทรัพยากร
    ข. ปัญหาความยากจน
    ค. ปัญหาการว่างงาน
    ง. ปัญหาการกระจายรายได้
6. วิชาเศรษฐศาสตร์ มีความจำเป็นในสังคมลักษณะใด
    ก. ในสังคมที่มีทรัพยากรมากกว่าจำนวนประชากร
    ข. ในสังคมที่มีทรัพยากรไม่ขาดแคลน และความต้องการมีจำกัด
    ค. ในสังคมที่มีทรัพยากรเหลือเฟือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีราคา
    ง. ในสังคมที่มีความต้องการอย่างไม่มีขีดจำกัด และไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง
7. จุดประสงค์หลักการศึกษาเศรษฐศาสตร์ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องอะไร
    ก. การกระจายรายได้
    ข. การเงินการธนาคาร
    ค. การพัฒนาเศรษฐกิจ
    ง. การจัดสรรทรัพยากร
8. การศึกษาเศรษฐศาสตร์ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องอะไร
    ก. แก้ปัญหาการเงินได้ย่างมีประสิทธิภาพ
    ข. แก้ปัญหาการติดต่อซื้อขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    ค. แก้ไขปัญหาการไม่มีงานทำของประชาชน
    ง. การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนองความ องการของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
9. ข้อใดคือปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

    ก. ผลิตอะไร ผลิตทำไม ผลิตเท่าไร
    ข. ผลิตอะไร ผลิตทำไม ผลิตที่ไหน
    ค. ผลิตอะไร ผลิตอย่างไร ผลิตที่ไหน
    ง. ผลิตอะไร ผลิตอย่างไร ผลิตเพื่อใคร
10. ในทางเศรษฐศาสตร์ประเทศใดมีจำนวนประชากรพอเหมาะมากที่สุด
    ก. ประเทศ ก. มีประชารร่ำรวยในประเทศคิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด
    ข. ประเทศ ข. มีประชากรยากจนคิดเป็นร้อยละ 85 ของประชากรทั้งหมด
    ค. ประเทศ ค. ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลสูง มีคุณภาพชีวิตที่ดี
    ง. ประเทศ ง. มีประชากรยากจนและร่ำรวยอย่างละเท่ากัน แต่รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลต่ำ

เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น

มาตรฐาน ส 3.1

เข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิต และการบริโภค การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า รวมทั้งเข้าใจหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพ

มาตรฐานการเรียนรู้ ส 3.1.1
เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น วางแผนในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อการผลิตโดยคำนึงถึงปัญหาทางเศรษฐศาสตร์และประโยชน์ที่จะได้รับของบุคคลและสังคมอย่างมีคุณธรรม

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. รู้เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
2. รู้ เข้าใจ และวางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อการผลิตโยคำนึงถึงปัญหาทางเศรษฐศาสตร์และประโยชน์ที่ได้รับของบุคคลและสังคมอย่างมีคุณธรรม

ความหมายของเศรษฐศาสตร์

     มนุษย์มีการดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค โดยธรรมชาติมนุษย์มีความต้องการไม่จำกัด ในขณะที่ทรัพยากรหรือสินค้าและบริการมีอยู่อย่างจำกัด จึงมีการศึกษาถึงกรรมวิธีการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประโยชน์ สูงสุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
     วิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) จึงมีบทบาทในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการศึกษาเพื่อหาหนทางในการจัดสรรทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านได้ให้คำจำกัดความของวิชาเศรษฐศาสตร์ในแนวทางเดียวกัน เช่น
     “วิชาเศรษฐศาสตร์ หมายถึง วิชาที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ ในการดำเนินธุรกิจเพื่อดำรงชีพ โดยศึกษาเป็นส่วนย่อยและส่วนใหญ่ ลักษณะส่วนรวมของสังคม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสังคมเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุของสิ่งต่าง ๆ เพื่อการยังชีพ ให้รับความสมบูรณ์พูนสุข” (Alfred Marshall)
     “วิชาเศรษฐศาสตร์ หมายถึง การศึกษาถึงเรื่องของการใช้ทรัพยากรที่มีความขาดแคลนในการสร้างความพอใจ ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด” (Lipsey, Steiner, Purvis and Courant, 1990)
     “วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงวิธีการต่าง ๆ ของบุคคล ของสังคมในการใช้ทรัพยากรที่มีความขาดแคลน ทั้งทรัพยากรที่ถูกสร้างขึ้นจากธรรมชาติ และถูกมนุษย์จัดมาในภายหลัง” (Case and Fair, 1992)
     จากแนวทางของคำจำกัดความต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้น สรุปได้ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาทางสังคมศาสตร์ ที่ศึกษาถึงวิธีการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและมีความขาดแคลนไปผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งมีความต้องการอย่างไม่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์
     เศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาถึงวิธีการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดมาผลิตสินค้าและบริการจำแนกแจกจ่ายไปบำบัดความต้องการของทุกคนในสังคม เป็นความรู้ที่แทรกอยู่ในชีวิตประจำวันวันของทุกคน ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงมีความสำคัญต่อบุคคลทุกกลุ่ม การศึกษาเศรษฐศาสตร์จำแนกออกตามความสำคัญ ดังนี้
     1. ความสำคัญต่อสังคม มนุษย์ทุกคนในสังคมจะเกี่ยวข้องกับการบริโภคและการใช้บริการวิชาเศรษฐศาสตร์มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งด้านการประกอบอาชีพ การออม การลงทุน การจ้างงาน การผลิต การบริโภค รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อ เงินฝืด ซึ่งเป็นปัญหาภาวะเศรษฐกิจของมนุษย์ในสังคม ที่ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวัน
     2. ความสำคัญต่อประชาชนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน หรือสินค้าบริการ การประกาศเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ การขึ้นเงินเดือนแก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ การลดค่าเงินบาท หรือค่าเงินบาทลอยตัว สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อประชาชนโดยส่วนรวมทั้งสิ้น
     3. ความสำคัญต่อผู้ประกอบการ ทั้งในระดับหน่วยธุรกิจและระดับชาติ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือ สำหรับการศึกษา วิเคราะห์ แปลข่าวสารทางด้านเศรษฐกิจ การผลิต การจำหน่าย และการบริโภค ในลักษณะต่าง ๆ พร้อมทั้งเข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างสมเหตุสมผล
     4. ความสำคัญต่อผลประโยชน์โดยส่วนรวม ถ้าเศรษฐกิจได้พัฒนาไปในทางที่ดี ประชาชนและรัฐบาลต่างก็จะได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน แต่ถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น ขาดดุลการค้า ขาดดุลการชำระเงิน ภาวการณ์ลงทุนซบเซา ก็จะส่งผลทำให้ประชาชนและรัฐบาลได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นปัญหาเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ ในปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจในประเทศของตน มีการเน้นนโยบายการค้ามากกว่านโยบายทางด้านอื่น ๆ เพราะเหตุนี้วิชาเศรษฐศาสตร์จึงมีความสำคัญมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต
     5. ความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
     6. ความสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สามารถนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติ โยวิธีการจัดสรรให้เหมาะสมกับชุมชนและความต้องการของประชาชน เมื่อทุกหน่วยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคงไปด้วย
     7. ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การวางแผนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมาตรฐานการครองชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น ตลอดจนการกระจายรายได้ไปสู่ชนบทให้สูงขึ้น ซึ่งการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายล้วนแล้วแต่มีการนำหลักการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ทั้งสิ้น

ประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์
     วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษาทั้งในทางตรงและทางอ้อม สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทางด้านเศรษฐกิจ ประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์ พอสรุปได้ดังนี้
     1. ประโยชน์ที่เกิดกับผู้ศึกษาโดยตรง ผู้ศึกษาจะเข้าใจหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เข้าใจภาวะเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีหลักเกณฑ์
     2. ประโยชน์ในฐานะผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ตนได้รับความพอใจสูงสุดภายใต้ระดับรายได้ที่มีอยู่ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจานี้ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจ และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนรู้จักการออม แสวงหารายได้ และค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า
     3. ประโยชน์ในฐานผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิตสินค้าและบริการอย่างคุ้มค้า ประหยัด ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ธุรกิจได้รับกำไรเพิ่มขึ้น นอกจานี้ ช่วยให้ผู้ผลิตเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สามารถตัดสินใจเลือกลงทุนดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ
     4. ประโยชน์ในฐานะรัฐบาล ทำให้ผู้บริหารประเทศเข้าใจลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจและแสวงหาแนวทางแก้ไข โดยกำหนดทางเศรษฐกิจที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ
     5. ประโยชน์ในฐานะพลเมืองของประเทศ ทำให้เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเข้าใจบทบาทและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อจะได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์โดยสังเขป


เหตุผลที่ต้องศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
     วิชาเศรษฐศาสตร์เกิดขึ้นจากปัญหาความขาดแคลนหรือความมาสมดุลระหว่างทรัพยากรกับความต้องการ ความขาดแคลน (Scarcity) หมายถึง ภาวะที่ปริมาณทรัพยากรมีไม่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ ตามที่ประชาชนปรารถนา หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะผลิตทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนองความต้องการให้กับทุกคนได้ กล่าวคือ
          1. ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด (Limited Resources) ทรัพยากรหรือทรัพย์ (Goods) คือ สิ่งต่าง ๆ ที่ใช่บำบัดความต้องการของมนุษย์ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีรูปร่าง เช่น บ้าน รถยนต์ เสื้อผ้า ปากกา สมุด หนังสือ ฯลฯ และไม่มีรูปร่าง เช่น บริการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ทรัพย์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
              1.1 ทรัพย์เสรี หรือทรัพย์ไร้ราคา คือ ทรัพย์ที่ไม่ขาดแคลน มีเป็นจำนวนมาก ไม่จำกัดอยู่โดยธรรมชาติ ได้มาโดยไม่ต้องกซื้อหรือแลกเปลี่ยน เช่น อากาศ แสงแดด สายลม น้ำฝน ฯลฯ
              1.2 เศรษฐทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่มีอยู่อย่างจำกัด มีความขาดแคลน ต้องซื้อหรือแลกเปลี่ยนจึงจะได้มา เช่น บ้าน เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ เสื้อผ้า ยารักษาโรค ฯลฯ ลักษณะสำคัญของเศรษฐทรัพย์ คือ สามารถแสดงจ้าของ หรือเปลี่ยนเจ้าของได้ ดังนั้น เศรษฐทรัพย์จึงเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าในทางเศรษฐศาสตร์
          2. ความต้องการของมนุษย์ไม่มีขอบเขตจำกัด (Unlimited Wants) มนุษย์เป็นปัจเจกบุคคลที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้ความต้องการในสินค้าและบริการสูงขึ้น และไม่มีสิ้นสุด โดยทั่วไปความต้องการของมนุษย์มีลักษณะที่น่าสังเกต คือ
              2.1 ความต้องการทั่วไปไม่มีที่สิ้นสุด เป็นธรรมชาติของแต่ละบุคคลที่จะมีความต้องการในสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด เช่น เสื้อผ้า รถยนต์ บ้าน ฯลฯ
              2.2 ความต้องการที่สิ้นสุดเพียงชั่วขณะหนึ่ง เช่น ความต้องการน้ำดื่ม ความต้องการอาหาร เป็นต้น
              2.3 ความต้องการในสินค้าที่ทดแทนกันได้ เช่น สินค้าประเภทเดียวกัน มีหลายชนิดหลายยี่ห้อ เมื่อสินค้าที่ใช้อยู่ประจำมีราคาสูงขึ้นเราอาจเปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่นที่มีราคาต่ำกว่า เป็นต้น ลักษณะแห่งการทดแทนนี้ทำให้เกิดกฎสำคัญ คือ กฎแห่งการทดแทน ซึ่งเป็นกฎที่จะช่วยป้องกันการค้าผูกขาดได้เป็นอย่างดี
              2.4 ความต้องการในสินค้าบางชนิด ถ้าไดรับการสนองตอบทุกครั้งบ่อย ๆ อาจจะกลายเป็นนิสัย เช่น การติดบุหรี่ การติดสุรา การติดยาเสพติด เป็นต้น
              2.5 ความต้องการในสินค้าบางอย่าง ที่จะไปเกี่ยวพันกับความต้องการของอย่างอื่นด้วย เช่น ถ้าต้องการรถยนต์ ก็ต้องการน้ำมันด้วย หรือต้องการไม้เทนนิส ก็ต้องการลูกเทนนิสด้วยประกอบกัน เป็นต้น

สาขาของวิชาเศรษฐศาสตร์

วิชาเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 สาขาใหญ่ ๆ คือ
     1. เศรษฐศาสตร์จุลภาค
         เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษากิจกรรมทางเศรษฐกิจของหน่วยย่อย ๆ เฉพาะบุคคล หรือหน่วยธุรกิจเล็ก ๆ ในสังคม เช่น การกำหนดราคา กลไกราคาหรือกลไกตลาด ทฤษฎีการผลิตและผลกำไร พฤติกรรมของผู้ผลิต และผู้บริโภค เป็นต้น
     2. เศรษฐศาสตร์มหภาค
         เศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจในระดับส่วนรวม หรือ ระดับประเทศ เช่น การศึกษาการจ้างงานทั้งหมดในระดับประเทศ รายได้ประชาชาติ การค้าระหว่างประเทศ การเงิน การธนาคาร และการคลัง เป็นต้น
         เศรษฐศาสตร์ทั้งสองมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด จึงมีความจำเป็นที่ต้องศึกษาประกอบกันไปทั้งสองสาขา กล่าวคือ การที่ระบบเศรษฐกิจมวลรวมจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจ เช่น ผลผลิตมวลรวมของระบบเศรษฐกิจจะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับผลผลิตของหน่วยผลิตแต่ละหน่วย ในขณะเดียวกันการตัดสินใจของผู้ผลิตและผู้บริโภคแต่ละคนก็จะขึ้นอยู่กับกิจกรรมมวลรวมในระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ
         วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นสาขาของสังคมศาสตร์ ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด มีการผลิตอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นวิชาเศรษฐศาสตร์จึงสัมพันธ์กับวิชาอื่น ๆ หลายแขนง อาทิ เช่น สัมพันธ์กับการบริหารธุรกิจ สัมพันธ์กับรัฐศาสตร์ สัมพันธ์กับคณิตศาสตร์สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ และสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ เป็นต้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ
         ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ หมายถึง วิชาที่ศึกษาถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจำแนกแจกจ่าย การบริโภคสินค้าและบริการ ตลอดจนการซื้อขายแลกเปลี่ยน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ
         วิชาภูมิศาสตร์เศรษฐกิจทำให้ทราบว่า ท้องถิ่นหรือภูมิภาคใดสมควรประกอบกิจกรรมบางอย่างเศรษฐกิจอะไร โดยวิธีใด และช่วงเวลาใด วิชาภูมิศาสตร์เศรษฐกิจมีความสำคัญต่อวิชาเศรษฐศาสตร์อย่างมาก กล่าวคือ
     1. ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจจะช่วยตอบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ 5 ประการ คือ อะไร (What) อย่างไร(How) เพื่อใคร (For Whom) ที่ไหน (Where) และเมื่อไร (When)
     2. ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ จะช่วยให้การศึกษาเศรษฐศาสตร์ง่ายขึ้น ทำให้เข้าใจลักษณะทางเศรษฐกิจของท้องถิ่นต่าง ๆ และทราบถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

การวางแผนในการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด

การจัดสรรทรัพยากร
     ในสังคมต่าง ๆ อาจจะมีทางเลือกในการใช้ปัจจัยการผลิตหลายทางเลือก แต่เนื่องจากไม่สามารถทำทุกทางเลือกได้เพราะขาดแคลนปัจจัยการผลิต แต่ละสังคมจึงต้องหาวิธีการมาตัดสินว่าจะนำปัจจัยการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งเรียกว่า การจัดสรรทรัพยากร
     การจัดสรรทรัพยากร หมายถึง การนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยทั่วไปในทางเศรษฐศาสตร์ แบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
         1. รัฐบาลจัดสรรทรัพยากร รัฐบาลของแต่ละประเทศจะเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรไปยังประชาชน โดยกระจายทรัพยากรในแหล่งที่มีอยู่หนาแน่นไปยังแหล่งที่ขาดแคลนทรัพยากร หรือจัดลำดับความสำคัญตามความต้องการของประชาชน แล้วกระจายทรัพยากร หรือผลิตสินค้าและบริการไปยังแหล่งที่ต้องการ
         2. ใช้กลไกราคาเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากร การใช้กลไกราคาเป็นตัวกำหนดในการจัดสรรทรัพยากร กล่าวคือ ราคาสินค้าในตลาดจะเป็นตัวกำหนดปริมาณความต้องการซื้อและความต้องการในการขาย เช่น ถ้าราคาสินค้าชนิดหนึ่งชนิดใดมีราคาสูงขึ้นปริมาณความต้องการในการขายเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณความต้องการซื้อจะลดลงทำให้สินค้าชนิดนั้นเหลือเกินความต้องการ ผู้ขายก็จะลดราคาสินค้าชนิดนั้นลง เป็นต้น

ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

     การที่แต่ละสังคมจะนำปัจจัยการผลิตที่มีอยู่จำกัดและมีความขาดแคลนไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกสังคม ทุกประเทศ โดยแต่ละปัญหาจะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันดังนี้
1. ปัญหาการจัดระบบการผลิต
     ประเทศต่าง ๆ ในโลกมีทรัพยากรมากน้อยแตกต่างกัน แต่ประชากรทุกประเทศต่างมีความต้องการที่จะได้สินค้าและบริการมาบำบัดความต้องการของตนมากที่สุด ประเทศต่าง ๆ จึงต้องเผชิญปัญหาการจัดระบบการผลิตว่า ในกรณีที่ทรัพยากรมีจำกัด การผลิตสินค้าอะไรสักเท่าไร ควรผลิตอย่างไร และเมื่อผลิตได้แล้วควรแจกจ่ายไปอย่างไรจึงสามารถสนองความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด กล่าวคือ
     1) ปัญหาว่าจะผิตอะไร จำนวนเท่าใด จากความขาดแคลนปัจจัยการผลิต ที่ทำให้แต่ละสังคมไม่สามารถผลิตสินค้าชนิดใดบ้าง แต่ละชนิดควรผลิตมากน้อยเพียงใด เช่น จะผลิตอาหารจำนวนมากและผลิตเสื้อผ้าจำนวนน้อยหรือไม่ หรือจะผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคในปีนี้โดยอาจจะไม่มีการผลิตอีกในปีหน้าหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้แต่ละสังคมยังต้องคำนึงด้วยว่าในการนำปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาใช้ในการผลิตนั้นจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น น้ำ ป่าไม้ อากาศ และอื่น ๆ อย่างไร
     2) ปัญหาว่าควรจัดการผลิตอย่างไร การผลิตสินค้าแต่ละชนิดอาจมีการผลิตหลายวิธี เช่น การเพาะปลูกเกษตรกรอาจใช้แรงงานหรือเครื่องจักรเป็นปัจจัยสำคัญ หรือใช้ร่วมกันทั้งแรงงานและเครื่องจักร เป็นต้น การผลิตสินค้าและบริการของแต่ละสังคม จึงควรหาวิธีที่ประหยัดปัจจัยการผลิตที่สุดและได้ผลลิตมากที่สุด หรือทำให้เกิดผลผลิตมากที่สุดโดยเสียต้นทุนต่ำที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องการหาเทคนิคหรือวิธีการผลิตที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการที่แต่ละสังคมจะเน้นการใช้ปัจจัยการผลิตประเภทใดเป็นปัจจัยสำคัญ ควรพิจารณาว่า ชนิด ปริมาณ และคุณภาพของปัจจัยการผลิตที่หามาได้หรือมีอยู่เป็นอย่างไร เช่น ถ้าเป็นสังคมประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีประชากรมาก ก็ควรผลิตสินค้าชนิดใดที่ใช้ที่ดินและแรงงานเป็นปัจจัยสำคัญ เป็นต้น
     3) ปัญหาว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นมา ควรให้กับใคร หรือเพื่อใคร ปัญหาการกระจายหรือแบ่งปันผลผลิตเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกสังคมจะต้องตัดสินใจว่า จะนำสินค้าและบริการที่ผลิตได้ให้กับใครภายใต้หลักเกณฑ์ใด เช่น จะให้กับเจ้าของหรือผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลิต ตามเกณฑ์ความสามารถในการผลิต คือ ผลิตได้มาก ผลิตน้อยได้น้อย ไม่ผลิตเลยก็ไม่ได้เลย หรือจะให้ตามเกณฑ์ความจำเป็น โดยบุคคลนั้นอาจมีส่วนร่วมหรือไม่มีส่วนร่วมในการผลิต เป็นต้น ซึ่งแต่ละแนวทางจะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน กล่าวคือ ถ้าจะให้ตามความเหมาะสมในการผลิตจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น แต่ถ้าจะให้กับบุคคลที่มีความจำเป็นต้องบริโภคโดยไม่มีส่วนร่วมในการผลิต ก็จะทำให้บุคคลที่ทำงานหนักขาดแรงจูงใจในการทำงาน ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตรวมของสังคมลดลงได้ แต่สังคมจึงควรหาวิธีการที่ทำให้ทั้งผู้มีส่วนร่วมในการผลิตได้รับผลผลิตไปตามความสามารถที่มีอยู่ และให้ผู้ด้อยโอกาสขาดความสามารถในการผลิตมีมาตรฐานการครองชีพตามสมควรได้

2. ปัญหาการเลือก
     จากการที่ทรัพยากรมีจำกัดหรือปัจจัยการผลิตมีความขาดแคลน ทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าทุกอย่างสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ ผู้ผลิตจึงหาวิธีการเลือกผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ในส่วนผู้บริโภคนั้นจำเป็นต้องเลือกบริโภคสินค้าเพื่อให้ตนเองได้รับความพึงพอใจสูงสุดจากรายได้ที่มีจำกัด ทุกคนจึงต้องรู้จักเลือกว่าสินค้าอะไรที่ตนเองต้องการตามลำดับก่อนหลัง (Choice) สินค้าที่เลือกก่อน คือ สินค้าที่จำเป็นต่อตนเองและครอบครัวมากที่สุด
     การเลือกของบุคคลเพื่อสนองความต้องการย่อมทำให้เกิดการเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการเลือกอีกทางหนึ่งเสมอ โอกาสที่เสียไป คือ ต้นทุนของสิ่งที่จะได้รับนั่นเอง เช่น นักเรียนยอมขาดเรียนเพื่อไปชมฟุตบอล ต้นทุนที่เขาเสียไป คือ ความรู้ที่จะได้รับจากการเรียน ต้นทุนที่เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจเลือกต่าง ๆ ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า “ค่าเสียโอกาส (Opportunity – Cost)”

3. ปัญหาประชากร
     จำนวนประชากรโลก นับเป็นปัญหาที่สำคัญ เพราะมีผลต่อความขาดแคบนอาหารที่อยู่อาศัย ความยากจน และอื่น ๆ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ โทมัส โรเบิร์ต มัลทัส (Thomas Robert Malthas) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับประชากร กล่าวคือ ความสามารถในการผลิตอาหารของมนุษย์มีอัตราก้าวหน้าเลขคณิต (Arithmetic Progression) คือ เพิ่มจาก 1 เป็น 2, 3, 4 .... ฯลฯ ส่วนจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็นอัตราก้าวหน้าเรขาคณิต (Geometric Progression) คือเพิ่มจาก 1 เป็น 2, 4, 8, 16, ... ฯลฯ ปัจจุบันประชากรมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราการตายของประชากรลดลง ความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น จำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมมีทั้งผลดี และผลเสีย กล่าวคือ ผลดี ทำให้จำนวนแรงงานที่ทำการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น มีความต้องการสินค้าและบริการบางชนิดเพิ่มขึ้น ส่วนผลเสีย ถ้าสมาชิกในครอบครัวมีมากทำให้ฐานะครอบครัวยากจนลง หรือถ้าประชากรวัยพึ่งพึงมาก ทำให้รัฐบาลมีภาระที่จะต้องใช้จ่ายเงินเพื่อการดูแลเพิ่มขึ้น ดังนั้นแต่ละประเทศจึงต้องการจำนวนประชากรที่พอเหมาะ หมายถึงจำนวนประชากรที่มีรายได้เฉลี่ยแต่ละคนสูงสุดตามกำลังทรัพยากรที่ประเทศนั้นมีอยู่

คุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์
     การศึกษาเศรษฐศาสตร์ มีแนวทางการวิเคราะห์อยู่สองรูปแบบ คือ การศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจตามข้อเท็จจริงว่าคืออะไรเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายหรือผลกระทบทางสังคม และการศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น เป็นการวิเคราะห์ที่คำนึงถึงเป้าหมายทางสังคมเป็นหลัก เพื่อกำหนดแนวทางที่ถูกต้อง ว่าควรเป็นอย่างไร และปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ดังนั้นการวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ตามแนวที่ควรจะเป็น จะนำเอาหลักจริยธรรม คุณธรรม ค่านิยม และแนวคิดทางสังคมเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ในทาวงเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องกับศาสนา หรือหลักคุณธรรม กล่าวคือ ทุก ๆ ศาสนาต่างสอนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่มีความโลภ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นการแนะนำให้ทุกคนในสังคมเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยความซื่อสัตย์ นักธุรกิจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ราคายุติธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งคุณธรรมที่เกี่ยวข้องกันแต่ละกลุ่ม มีดังนี้

     1. คุณธรรมของผู้ผลิต
     ผู้ผลิตมุ่งหวังที่จะได้รับผลตอบแทนจากการผลิตให้ได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายหลัก คือ มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดจากการผลิต ผู้ผลิตจึงพยายามทุกวิธีเพื่อให้ได้กำไรมาก ๆ บางครั้งพบว่า ผู้ผลิตบางรายปลอมสินค้า ทำให้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นผู้ผลิตจึงควรมีคุณธรรมพื้นฐาน เพื่อประโยชน์สูงสุดในระบบเศรษฐกิจของทุกฝ่าย โดยผู้ผลิตควรคำนึงถึงแนวทางที่สำคัญดังต่อไปนี้
          - ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
          - ใช้วัตถุดิบในการผลิตทีได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
          - มีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค โดยผลิตสินค้าที่ปลอดภัย ไม่ปลอมปนสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อผู้
บริโภค
          - การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ผลิตควรยึดหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยเพิ่มผลผลิตแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดบ้อมภายในแหล่งผลิตของตนให้มีสภาพน่าอยู่ เช่น ปลูกต้นไม้ การรักษาความสะอาด การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น

     2. คุณธรรมของผู้บริโภค
     ผู้บริโภคมีเป้าหมายในทางเศรษฐศาสตร์ คือ การบริโภคสินค้าและบริการเพื่อความพึงพอใจสูงสุด แต่ต้องคำนึงถึงรายได้ที่มีอยู่ กล่าวคือ ควรยึดทางสายกลาง ใช้จ่ายด้วยการประมาณตน หรือรู้จักพอประมาณ ไม่ก่อหนี้สินเกินตัว จนกลายเป็นปัญหาตามมา ตลอดจนไม่เกิดความโลภ ลักขโมย หยิบฉวยส่งของที่ไม่ใช่ของตน

     3. คุณธรรมของรัฐบาล
     รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประทศให้เกิดความมั่งคั่งและมั่นคงคุณธรรมที่สำคัญของรัฐบาล คือ ควรบริหารเศรษฐกิจของประเทศด้วยความเสียสละ ซื่อสัตย์ คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าของตนเองหรือพรรคพวก
     กล่าวโดยสรุปแล้วเศรษฐศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัดและประสบปัญหาขาดแคลนปัจจัยการผลิต จึงต้องหาแนววิธีในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชนสูงสุด ดังนั้นเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคจึงต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตและประโยชน์ที่จะได้รับอย่างคุ้มค่าตลอดจนการมีคุณธรรมของผู้ผลิต